วารสารพัฒนาการเรียนการสอน มหาวิทยาลัยรังสิต

Journal of Rangsit University: Teaching & Learning

ISSN 2822-1400 (Print)

ISSN 2822-146X (Online)

จรรยาบรรณของบรรณาธิการ

  1. บรรณาธิการพึงปฏิบัติภารกิจหลักในการจัดหาต้นฉบับบทความและเจรจากับผู้เขียน โดยพิจารณาบทความเบื้องต้นเกี่ยวกับ ชื่อเรื่อง ขอบเขต โครงสร้าง ความยาวของเนื้อหา ความถูกต้องของข้อมูล การบอกเล่าอย่างตรงไปตรงมา การอ้างอิงแหล่งข้อมูล การสื่อความได้ชัดเจน ให้ความรู้สึกถึงความน่าสนใจ รวมทั้งกลั่นกรองเบื้องต้นถึงข้อความอันเป็นการใส่ร้ายดูหมิ่นอย่างร้ายแรง และการละเมิดลิขสิทธิ์              
  2. บรรณาธิการต้องวางใจเป็นกลาง ปราศจากอคติ ความลำเอียง และไม่มีส่วนได้ส่วนเสียใดๆ กับผู้เขียนและผู้ทรงคุณวุฒิที่ทำหน้าที่ตรวจพิจารณาบทความ ทั้งนี้ บรรณาธิการต้องปกปิดมิให้ผู้เขียนและผู้ทรงคุณวุฒิทราบถึงตัวตนของกันและกัน
  3. บรรณาธิการพึงรับฟังความเห็นของผู้ทรงคุณวุฒิเกี่ยวกับคุณภาพของบทความ และให้ความสำคัญต่อเนื้อหาอันมีประเด็นที่อาจก่อให้เกิดข้อโต้แย้งหรือข้อทักท้วงทั้งในทางวิชาการหรือทางกฎหมาย
  4. บรรณาธิการพึงรับผิดชอบต่อการตีพิมพ์เผยแพร่วารสารสู่สาธารณะ โดยการทำความตกลงกับผู้เขียนเกี่ยวกับสิทธิประโยชน์ของแต่ละฝ่าย รวมถึงความรับผิดชอบทางกฎหมายกรณีมีการลอกเลียนผลงานทางวิชาการ

 

จรรยาบรรณของผู้เขียนบทความ

  1. ผู้เขียนบทความต้องมีความซื่อสัตย์และมีคุณธรรมทางวิชาการ ไม่นำผลงานของผู้อื่นมาเป็นของตน ไม่ลอกเลียนงานของผู้อื่น ต้องให้เกียรติและอ้างถึงบุคคลหรือแหล่งที่มาของข้อมูลที่นำมาใช้
  2. ผู้เขียนบทความต้องมีพื้นฐานความรู้ในสาขาวิชาที่ทำการศึกษาค้นคว้าอย่างเพียงพอและมีความรู้ความชำนาญหรือมีประสบการณ์เกี่ยวเนื่องกับเรื่องที่ทำ เพื่อนำไปสู่การเขียนบทความวิจัยหรือบทความวิชาการที่มีคุณภาพ รวมถึงเพื่อป้องกันปัญหาการวิเคราะห์ การตีความ หรือการสรุปผล ที่ผิดพลาดอันอาจก่อให้เกิดความเสียหาย
  3. ผู้เขียนบทความโดยเฉพาะบทความวิจัย ต้องมีความรับผิดชอบต่อสิ่งที่ศึกษาวิจัยไม่ว่าจะเป็นสิ่งที่มีชีวิตหรือไม่มีชีวิต ต้องดำเนินการด้วยความรอบคอบระมัดระวัง และเที่ยงตรงในการทำวิจัยที่เกี่ยวข้องกับคน สัตว์ พืช ศิลปวัฒนธรรม ทรัพยากร และสิ่งแวดล้อม มีจิตสำนึกและมีปณิธานที่จะอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรม ทรัพยากร และสิ่งแวดล้อม
  4. ผู้เขียนบทความต้องเคารพศักดิ์ศรีและสิทธิของมนุษย์ ต้องไม่คำนึงถึงผลประโยชน์ทางวิชาการจนละเลยหรือขาดความเคารพในศักดิ์ศรีของเพื่อนมนุษย์ และต้องไม่ละเมิดสิทธิส่วนบุคคลของผู้อื่น
  5. ผู้เขียนบทความต้องมีอิสระทางความคิดโดยปราศจากอคติในทุกขั้นตอน ต้องตระหนักว่าอคติส่วนตนหรือความลำเอียงทางวิชาการอาจส่งผลให้มีการบิดเบือนข้อมูลและข้อค้นพบทางวิชาการ
  6. ผู้เขียนบทความพึงนำผลงานไปใช้ประโยชน์ในทางที่ชอบ มีจุดมุ่งหมายในการเผยแพร่ผลงานเพื่อประโยชน์ทางวิชาการและสังคม ไม่ขยายผลข้อค้นพบจนเกินความเป็นจริง ไม่ใช้ผลงานไปในทางมิชอบ
  7. ผู้เขียนบทความพึงเคารพความคิดเห็นทางวิชาการของผู้อื่น พร้อมที่จะเปิดเผยข้อมูลและขั้นตอนการดำเนินงาน ยอมรับฟังความคิดเห็นและเหตุผลทางวิชาการของผู้อื่น และพร้อมที่จะปรับปรุงแก้ไขผลงานของตนให้ถูกต้อง

 

จรรยาบรรณของผู้ทรงคุณวุฒิตรวจพิจารณาบทความ

  1. ผู้ทรงคุณวุฒิต้องเป็นผู้ที่ไม่มีส่วนได้ส่วนเสียหรือมีผลประโยชน์ทับซ้อนกับผู้เขียนและ/หรือผลงานที่ทำการตรวจประเมิน และไม่เป็นบุคลากรในสถาบันหรือเคยสังกัดสถาบันที่เดียวกันกับผู้เขียน
  2. ผู้ทรงคุณวุฒิต้องใช้ความรู้ ความเชี่ยวชาญ และประสบการณ์ในสาขาวิชาของตนอย่างเต็มกำลังความสามารถ ในการตรวจสอบบทความอย่างตรงไปตรงมาและมีมาตรฐานเดียวกัน โดยพิจารณาตั้งแต่ ชื่อเรื่อง วัตถุประสงค์ ความเป็นมา รายละเอียดขั้นตอนการดำเนินงานต่างๆ บนพื้นฐานความถูกต้องของระเบียบวิธีวิจัย ตลอดจนการอ้างอิงถึงแหล่งที่มาของข้อมูล การตีความ การวิเคราะห์ การสรุปผล การอภิปรายผล รวมถึงประโยชน์ที่เกิดขึ้นจากการทำผลงานนั้นๆ ทั้งนี้ ผู้ทรงคุณวุฒิต้องให้ความคิดเห็นอย่างเป็นกลางในเชิงสร้างสรรค์ โดยมุ่งหวังให้ผู้เขียนนำข้อเสนอแนะไปปรับปรุงแก้ไขผลงานของตนให้เกิดความถูกต้องและมีคุณภาพดียิ่งขึ้น
  3. ผู้ทรงคุณวุฒิต้องไม่เป็นผู้ที่กำลังทำหรือกำลังจะทำงานวิจัยหรือเขียนบทความวิชาการเรื่องเดียวกันหรือคล้ายคลึงกันกับผู้เขียนบทความ
  4. ผู้ทรงคุณวุฒิต้องไม่เป็นผู้มีความเชื่อในเชิงทฤษฎีหรือในเชิงวิชาการส่วนตัวที่ขัดแย้งกันอย่างรุนแรงหรือกรณีอื่นๆ ที่ทำให้การตรวจประเมินอาจไม่เที่ยงตรงหรือมีอคติ

 

จรรยาบรรณเกี่ยวกับการทำวิจัยในคน

         หลักจริยธรรมการทําวิจัยในคนทั่วไป ประกอบด้วยหลัก 3 ประการ ได้แก่

        1. หลักความเคารพในบุคคล (Respect for person)

        2. หลักคุณประโยชน์ไม่ก่ออันตราย (Beneficence)

        3. หลักความยุติธรรม (Justice)

        หลักความเคารพในบุคคล คือ การเคารพในศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ (Respect for human dignity) ซึ่งเป็นหลักสําคัญของจริยธรรมการทําวิจัยในคน โดยหลักนี้เป็นพื้นฐานของแนวทางปฏิบัติ ได้แก่

       1.1 เคารพในการขอความยินยอมโดยให้ข้อมูลอย่างครบถ้วนและให้อาสาสมัครตัดสินใจอย่างอิสระ ปราศจากการข่มขู่ บังคับ หรือให้สินจ้างรางวัล (Respect for free and informed consent และ Respect to autonomy of decision making)

       1.2 เคารพในความเป็นส่วนตัวของอาสาสมัคร (Respect for privacy) 

       1.3 เคารพในการเก็บรักษาความลับของข้อมูลส่วนตัวของอาสาสมัคร (Respect for confidentiality) 

       1.4 เคารพในความเป็นผู้อ่อนด้อย เปราะบาง (Respect for vulnerable persons) ความหมายของ ผู้อ่อนด้อย เปราะบาง คือ บุคคลที่ไม่สามารถปกป้องตัวเองได้อย่างเต็มที่ ไม่สามารถทําความเข้าใจกับข้อมูลเกี่ยวกับการวิจัยที่ได้รับ ไม่สามารถตัดสินใจได้โดยอิสระ เช่น ผู้ที่มีความบกพร่องทางสติปัญญาหรือทางจิต ผู้ป่วยโรคเอดส์ (HIV/AIDS) ผู้ป่วยหมดสติ (comatose) ผู้ป่วยพิการ (handicapped) นักโทษ (prisoners) นักเรียน นิสิต นักศึกษา (students) ทหาร (soldiers) กลุ่มคนที่มีพลังอํานาจน้อย (marginalized people) เช่น ผู้อพยพ (immigrants) ชนกลุ่มน้อย (ethnic minority) กลุ่มเบี่ยงเบนทางเพศ หรือกลุ่มรักร่วมเพศ (homosexuality) กลุ่มเปราะบางทางสังคม (socially vulnerable) เช่น ผู้ให้บริการทางเพศ (sex workers) ผู้ติดยาเสพติด (drug addicts)

       ดังนั้น ในการทำงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับบุคคลที่เป็นกลุ่มประชากรเป้าหมายของการวิจัย ให้เข้าร่วมเป็นอาสาสมัครในการวิจัย ผู้วิจัยควรมีแนวปฏิบัติ ดังนี้

       1. ผู้วิจัยต้องเขียนข้อเสนอโครงร่างการวิจัยที่มีพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์ถูกต้อง (Scientific validity)

       2. ในระเบียบวิธีวิจัยหรือวิธีดําเนินการวิจัย ก่อนจะดําเนินการใดๆ กับอาสาสมัคร เช่น การตรวจคัดกรอง (screening) ผู้วิจัยต้องเขียนขั้นตอนกระบวนการขอความยินยอมก่อน ได้แก่ ผู้ที่จะทําหน้าที่ขอความยินยอม สถานที่ที่จะขอความยินยอม การให้ข้อมูล คําอธิบาย ตอบข้อสงสัย ให้เวลาตัดสินใจโดยอิสระ ฯลฯ ก่อนให้อาสาสมัครลงนามให้ความยินยอม

      3. เพื่อแสดงว่าผู้วิจัยจะปฏิบัติตามหลักจริยธรรมการวิจัยในคน (Ethical principles) ผู้วิจัยจะต้องเขียน หัวข้อ “ข้อพิจารณาด้านจริยธรรมการวิจัย (Ethical consideration)” โดยวิเคราะห์ตามหลักจริยธรรมการวิจัยในคน 3 ข้อ ว่าแต่ละข้อผู้วิจัยทําอย่างไรตามที่ได้กล่าวไว้ในแนวทางปฏิบัติข้างต้น ได้แก่

         - หลักความเคารพในบุคคล (Respect for person) โดยการขอความยินยอมจากผู้ที่เป็นกลุ่มประชากร เป้าหมายของการวิจัย ให้เข้าร่วมเป็นอาสาสมัครในการวิจัย

         - หลักการให้ประโยชน์ไม่ก่อให้เกิดอันตราย (Beneficence/Non-maleficence) โดยระบุว่าอาสาสมัครจะได้รับประโยชน์หรือไม่ ประโยชน์อะไร หรือประโยชน์อื่นๆ อาจเกิดความเสี่ยงอะไรต่อตัวอาสาสมัคร ผู้วิจัยจะเก็บรักษาความลับของอาสาสมัคร โดยในแบบบันทึกข้อมูลจะไม่มี identifier ที่จะระบุถึงตัวอาสาสมัคร

         - หลักความยุติธรรม (Justice) คือ มีเกณฑ์การคัดเข้าและออกชัดเจน ไม่มีอคติ มีการกระจายประโยชน์และความเสี่ยงอย่างเท่าเทียมกันโดยวิธีการสุ่ม

     4. ผู้วิจัยเสนอตารางแผนการดําเนินการวิจัย ทั้งนี้ ขั้นตอนการทดลองกับอาสาสมัคร การเก็บข้อมูล จะต้องดําเนินการหลังจากข้อเสนอโครงร่างการวิจัยได้รับการพิจารณาอนุมัติหรือรับรองจากคณะกรรมการจริยธรรมการวิจัยแล้วเสมอ

 

 

Approved By TCI (2020 - 2024)

Indexed in